กสทช.ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสารจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสื่อสารท้องถิ่น”

กสทช.ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสารจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสื่อสารท้องถิ่น”

วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสาร สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจัดประชุม Think Tank เชิงวิชาการ เรื่อง “มุมมองท้องถิ่น: การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสื่อสารของท้องถิ่น” ณ ห้องชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ชั้น 3 คณะวิทยาการสื่อสาร มีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ มารับฟังสถานการณ์สื่อท้องถิ่น สื่อภาคประชาชน และสื่อชุมชนในปัจจุบัน พร้อมด้วยนายฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด รักษาการเลขาธิการ กสทช. ดร.ตรี บุญเจือ ผอ.สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม น.ส.รุ้งตะวัน จินดาวัลย์ ผอ.สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และนางราตรี จุลคีรี ผอ.ส่วนส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้บริโภค เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย โดยมี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายภาคส่วนในภาคใต้ทั้งนักวิชาการนิเทศศาสตร์ สื่อชุมชน เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม นักข่าวพลเมือง ผู้ผลิตอิสระ สภาเด็กและเยาวชน

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ยังได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “สถานภาพการเปิดรับสื่อและข่าวสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในที่ประชุมด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาตัวชี้วัดและระบบติดตามสถานการณ์การสื่อสารในสื่อออนไลน์และชุมชนเพื่อความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” และกล่าวว่า หากพิจารณาผลการศึกษาเฉพาะสื่อที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าถึงนั้น พบว่า สื่อบุคคลยังมีความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ สื่อสังคม โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นที่นิยมแทนสื่อโทรทัศน์ แตกต่างจากผลการสำรวจเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสื่อวิทยุที่ได้รับความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นสื่อที่มีกลุ่มผู้ฟังเฉพาะมากขึ้น

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า จากการรับฟังในเวทีการประชุมภาคเหนือและอีสานที่ผ่านมาทำให้เห็นตัวอย่างของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่นที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าจากคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงคลื่นความถี่และใช้ให้เกิดคุณค่าพิเศษในพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่ผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีสมาคมผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี นักวิชาการนิเทศศาสตร์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สื่อชุมชน และผู้ผลิตอิสระได้มอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจแก่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรทัศน์