โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังจัดเวทีถอดบทเรียนเพื่อทบทวนการเรียนรู้และเสริมความมั่นใจในการประกอบอาชีพ

โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังจัดเวทีถอดบทเรียนเพื่อทบทวนการเรียนรู้และเสริมความมั่นใจในการประกอบอาชีพ

วันที่ 10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง หน่วยจัดการเรียนรู้ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเวทีถอดบทเรียนการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 ให้แก่ผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังสำหรับผู้เรียนหลักสูตรการแปรรูปข้าวพอง การทำเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ การตลาดออนไลน์ การเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุน การตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 36 คน ณ ห้องบรรยาย A310 คณะวิทยาการสื่อสาร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การจัดเวทีถอดบทเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการเรียนรู้ของผู้ร่วมเรียนรู้หลังจากเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 การเปิดเวทีเพื่อทำความเข้าใจกับโครงการและวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคน จนได้หลักสูตรการเรียนรู้ จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ การทำเกษตรและผักยกแคร่ การแปรรูปข้าวพอง การทำเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ การตลาดออนไลน์ การเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุน การตัดเย็บเสื้อผ้า และช่างยนต์ ขั้นตนอนที่ 3 การจัดกระบวนการเรียนรู้และทดลองปฏิบัติจริง ผู้ร่วมเรียนรู้ได้ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า บางหลักสูตรมีการดำเนินร่วมกันเป็นกลุ่มดังเช่นผู้ร่วมเรียนรู้หลักสูตรการแปรรูปข้าวพองที่ปัจจุบันได้เสนอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรังที่นำข้าวซีบูกันตังของชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนในนาม “ข้าวพองปะกาฮะรัง”

ผู้ร่วมเรียนรู้อีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจอยากรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วยคือกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้การทำเกษตรและยกผักยกแคร่ที่แม้ผู้ร่วมเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่สนใจจะเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม เพื่อให้ผู้ร่วมเรียนรู้มีโอกาสปลูกผักปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน แจกจ่ายเพื่อนบ้าน และจำหน่ายสู่ผู้บริโภคภายนอกชุมชนได้ ซึ่งอาจแยกกันปลูกแต่รวมกลุ่มกันเรียนรู้และจำหน่าย เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะผู้ร่วมเรียนรู้ ขณะที่ผู้ร่วมเรียนรู้อื่น ๆ มีการประกอบอาชีพรายบุคคล โดยไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันชัดเจน ศักยภาพของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนเรียนรู้ไปแล้ว แต่ยังขาดความมั่นใจ มีความกลัวในการทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งเวทีถอดบทเรียนครั้งนี้เป็นการมาพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยน และเสริมกำลังใจระหว่างกันระหว่างทาง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จารียา อรรถอนุชิต คณะทำงานโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง กล่าวถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ร่วมโครงการว่า โครงการนี้ออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของผู้ร่วมเรียนรู้แต่ละคนและลักษณะเฉพาะของเนื้อหาวิชา ดังนั้นจึงกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเชิญผู้รู้มาจัดกระบวนการเรียนรู้ มีการบรรยายให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และทดลองปฏิบัติ โดยมีผู้รู้ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การทำน้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ การตลาดออนไลน์ การตัดเย็บเสื้อผ้า 2) การศึกษาดูงานจากแหล่งความรู้ เป็นการชวนผู้ร่วมเรียนรู้ไปศึกษาดูงานกระบวนการต่าง ๆ ของการประกอบอาชีพนั้น ๆ หลังจากศึกษาดูงานแล้วก็กลับมาทดลองปฏิบัติ สรุปบทเรียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาก่อนจะปฏิบัติจริง ได้แก่ กลุ่มแปรรูปข้าวพอง และ 3) การเรียนรู้กับผู้รู้ ณ สถานที่จริง เป็นการนำผู้ร่วมเรียนรู้ไปพูดคุย ศึกษาดูงาน และทดลองปฏิบัติในสถานที่จริงกับผู้รู้ จากนั้นก็กลับมาปฏิบัติในชุมชน ได้แก่ กลุ่มทำเกษตรและผักยกแคร่ กลุ่มเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุน กลุ่มช่างยนต์

น.ส.สะปินะห์ สามะอาลี ผู้ร่วมเรียนรู้วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ครั้งแรกตนคิดว่าน่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมเพียงครั้งเดียวเหมือนกับโครงการที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา ไม่คิดว่าจะมีกิจกรรมให้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาตนเองต่อเนื่อง สาเหตุที่เลือกเรียนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะเดิมตนรับจ้างเย็บส่วนประกอบของเสื้อผ้าอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถตัดเย็บเป็นชุดทั้งตัวได้ การมาเรียนกับวิทยากรที่โครงการเป็นผู้จัดหามาให้ ทำให้ตนมีความรู้ ทักษะ และมีความมั่นใจในการตัดเย็บเสื้อผ้า ขณะนี้ตนเริ่มรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าจากลูกค้าในช่วงเดือนรอมฎอนนี้เต็มแล้ว

น.ส.มีเน๊าะ ตาเบะ ผู้ร่วมเรียนรู้วิชาการแปรรูปข้าวพอง เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้การแปรรูปข้าวพองเพราะต้องการนำข้าวจ้าวที่ชุมชนปลูกอยู่แล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อให้ข้าวมีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าการจำหน่ายข้าวสารแบบเดิม ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรัง การเข้าร่วมโครงการนี้นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเพื่อน มีผู้ให้คำแนะนำต่าง ๆ หลายคน มีความรู้ และมีความสบายใจ

นางฮัมดียะห์ ยูโซะ ผู้ร่วมเรียนรู้วิชาการทำเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า การตัดสินใจเรียนรู้การทำเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพเพื่อต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการช่วยแม่ค้าขายอยู่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อต้องการให้ลูกค้าในชุมชนได้รู้จักเครื่องดื่มสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพแทนที่จะดื่มแต่เครื่องดื่มแบบเดิมที่มีความหวานสูง

ที่ผ่านมา กะยะห์อาจจะทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้างตามเวลาที่เอื้ออำนวย ได้ทำเครื่องดื่มมาจำหน่ายตามงานต่าง ๆ บ้าง มีอาจารย์ออเดอร์มาบ้างเพื่อนำมาเสริฟเป็นเครื่องดื่มในการประชุม เป้าหมายในช่วงนี้ กะยะห์คุยกับเพื่อนที่เรียนรู้วิชานี้ด้วยกัน ตั้งใจว่าจะทำเครื่องดื่มสมุนไพรจำหน่ายในช่วงเดือนรอมฎอนทุกวัน โดยจะให้เพื่อน ๆ ช่วยกันผลิต ส่วนกะยะห์จะนำมาวางจำหน่ายให้ในตลาดปะกาฮะรัง” นางฮัมดียะห์กล่าว

โครงการกินอยู่ ดูดี มีอาชีพที่ปะกาฮะรังเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานนอกระบบ ผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ เยาวชนกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ดำเนินโครงการโดยนักวิชาการของคณะวิทยาการสื่อสาร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์จารียา อรรรถอนุชิต และทีมคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ที่นี่ปะกาฮะรัง – Di sini Pakaharang”
คลิก https://www.facebook.com/profile.php?id=100083304806368