โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังถอดบทเรียนการเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่

โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังถอดบทเรียนการเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่

โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง หน่วยจัดการเรียนรู้คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจัดกิจกรรมถอดบทเรียนการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 ให้แก่ผู้ร่วมเรียนรู้ จำนวน 22 รายที่เข้าร่วมการเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาการสื่อสาร

กลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และแม่บ้านใน ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่สนใจเรียนรู้การพัฒนาการทำเกษตรในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนในด้านอาหารปลอดภัย และเพิ่มรายได้แก่ตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกิจกรรมออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปัญหาและความสนใจของตนเอง การเข้าร่วมเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์และผักยกแคร่ ณ ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรกรปลูกผักยกแคร่ หมู่ที่ 11 บ้านคลองปอม ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จากนั้นจึงเริ่มลงมือทดลองเรียนรู้จากการปฏิบัติในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันผู้ร่วมเรียนรู้บางรายสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคแล้ว

สำหรับผลจากการถอดบทเรียนการเรียนรู้ในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

  1. ด้านการทำเกษตร ผู้ร่วมเรียนรู้ได้รู้จักผักหลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะผักที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน สามารถทำผักยกแคร่เป็น รู้จักการดูแลผัก ลดการใช้สารเคมี
  2. ด้านการพัฒนาศักยภาพตนเอง ผู้ร่วมเรียนรู้มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นจากการช่วยเหลือผู้อื่นในการทำแคร่ปลูกผัก พูดเก่งขึ้น จัดการเวลาให้มีประโยชน์มากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น
  3. ด้านความสัมพันธ์ ผู้ร่วมเรียนรู้มีเพื่อนต่างหมู่บ้านเพิ่มขึ้น รู้จักอาจารย์และวิทยากร ครอบครัวช่วยกันดูแลผักยกแคร่ ลูกมีสมาธิมากขึ้น เป็นตัวอย่างให้เพื่อนได้
  4. ด้านรายได้ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำเกษตรยกแคร่จำหน่ายให้เพื่อนบ้าน และผู้บริโภคภายนอกชุมชนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำผักที่ปลูกมารับประทานในครัวเรือนช่วยลดรายจ่าย
  5. ด้านจิตใจ ผู้ร่วมเรียนรู้มีความสุขจากการแจกจ่ายผักปลอดภัยให้แก่เพื่อนบ้านได้รับประทาน ทำให้เกิดความสบายใจ และมีความสุข

ส่วนเป้าหมายหลังจานี้ ผู้ร่วมเรียนรู้คาดหวังว่าจะรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้การทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายผู้บริโภคผักยกแคร่ต่อไป