นักวิชาการคณะวิทยาการสื่อสารหนุนผู้ผลิตข้าวพองตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน

นักวิชาการคณะวิทยาการสื่อสารหนุนผู้ผลิตข้าวพองตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน

กลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังที่สนใจการแปรรูปข้าวพองได้รับขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรังแล้ว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

การจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรสำหรับการรวมตัวกันของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อแปรรูปข้าวซีบูกันตัง ซึ่งเป็นข้าวจ้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมากในพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นข้าวพอง หรือที่ผู้บริโภคในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า แบแป การช่วยเหลือสมาชิก สร้างรายได้ และส่งเสริมบทบาทสตรีในชุมชนปะกาฮะรัง

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรังเริ่มต้นจากการเรียนรู้การผลิตข้าวพองแบบดั้งเดิมที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลัก จากนั้นสมาชิกกลุ่มทดลองนำข้าวจ้าวในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบแทนข้าวเหนียว พร้อมกับคิดค้นสูตรการทำข้าวพองให้ตอบโจทย์สุขภาพด้วยรสชาติหวานน้อยและผสมธัญพืช ได้แก่ งาขาว งาดำ เมล็ดทานตะวัน ปัจจุบันกลุ่มได้ผลิตข้าวพองออกจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดแล้ว โดยได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีการสั่งซื้อซ้ำจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

โครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรังเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยนักวิชาการจากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคนรุ่นใหม่ในชุมชน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพให้แก่ชุมชนปะกาฮะรัง จำนวน 60 คน ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 มีระยะเวลา 10 เดือน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

สำหรับท่านที่สนใจอุดหนุนข้าวพองธัญพืชของวิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรัง
สามารถติดต่อได้ที่
เพจข้าวพองปะกาฮะรัง – Beapea Pakaharang
และติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่เพจที่นี่ปะกาฮะรัง – Di sini Pakaharang